ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: ครู้ป (Croup/Laryngotracheobronchitis)  (อ่าน 81 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 561
    • ดูรายละเอียด
ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: ครู้ป (Croup/Laryngotracheobronchitis)

ครู้ป (คอตีบเทียม ก็เรียก) หมายถึงการอักเสบของเยื่อบุผิวของทางเดินหายใจตั้งแต่กล่องเสียงลงไปที่ท่อลม และหลอดลม ทำให้มีอาการไอเสียงก้อง และอาจเกิดการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนต้น มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง และหายได้เอง

พบบ่อยในเด็กอายุ 6 เดือนถึง 3 ปี (สูงสุดในช่วงอายุ 1-2 ปี) พบน้อยในเด็กอายุเกิน 6 ปี แต่บางครั้งก็อาจพบในเด็กโต (จนถึง 12-15 ปี) ก็ได้ พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 2 เท่า

สาเหตุ

เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งมีอยู่หลายชนิด ที่พบได้บ่อยสุดได้แก่ ไวรัสพาราอินฟลูเอนชา (parainfluenza)

นอกจากนี้อาจเกิดจากไวรัสอะดีโน (adenovirus) อาร์เอสวี (respiratory syncytial virus/RSV) ไวรัสหัด เป็นต้น

ส่วนไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ (influenza A) มักทำให้เกิดอาการที่รุนแรง และพบบ่อยในเด็กอายุ 3-7 ปี       

โรคนี้ติดต่อผ่านทางเดินหายใจแบบเดียวกับไข้หวัด

อาการ

แรกเริ่มมีอาการแบบไข้หวัด คือ มีไข้ เจ็บคอเล็กน้อย น้ำมูกไหล ไอ 1-2 วันต่อมาจะมีอาการเสียงแหบและไอเสียงก้อง และอาจได้ยินเสียงฮื้ด (stridor) ตอนหายใจเข้า มักเกิดตามหลังอาการไอ เด็กบางรายอาจมีอาการหายใจลำบากร่วมด้วย ซึ่งมากน้อยขึ้นกับความรุนแรงของโรค อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นฉับพลันทันทีและจะเป็นมากในช่วงเวลากลางคืน (ตั้งแต่ 6 โมงเย็นถึง 6โมงเช้า) บางรายเป็นมากจนทำให้สะดุ้งตื่น อาการจะทุเลาในช่วงกลางวัน

เด็กส่วนใหญ่อาการมักจะไม่รุนแรง และหายได้เองภายใน 3-7 วัน (บางรายอาจนานถึง 2 สัปดาห์)

ภาวะแทรกซ้อน

พบได้น้อย

อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน กลายเป็นปอดอักเสบ ท่อลมอักเสบ (tracheitis) หูชั้นกลางอักเสบ

อาจพบภาวะปอดบวมน้ำ (pulmonary edema) และปอดทะลุ

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก

มักตรวจพบไข้ 38-39 องศาเซลเซียส มีอาการไอเสียงก้อง และอาจได้ยินเสียงฮื้ด (stridor) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเด็กมีการเคลื่อนไหว เช่น วิ่งเล่น

บางรายอาจมีอาการหายใจลำบากเล็กน้อย หรือมีเสียงฮื้ดขณะพักอยู่นิ่ง ๆ

ในรายที่มีการอักเสบบริเวณหลอดลมร่วมด้วยอาจตรวจพบเสียงวี้ด (wheezing) เสียงอึ๊ด (rhonchi) เสียงกรอบแกรบ (crepitation)

ในรายที่เป็นรุนแรง (ซึ่งพบได้ส่วนน้อย) จะมีอาการไอถี่ ๆ มีเสียงฮื๊ดดังชัดเจนขณะพักอยู่นิ่ง ๆ หายใจลำบาก ซี่โครงและลิ้นปี่บุ๋ม ใช้เครื่องฟังตรวจปอดได้ยินเสียงหายใจเข้าเบากว่าปกติ ปากเขียว เล็บเขียว และอาจมีอาการซึมไม่ค่อยรู้สึกตัว

ในรายที่จำเป็นต้องวินิจฉัยโรคให้แน่ชัด แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด ตรวจหาเชื้อก่อโรค เอกซเรย์ ใช้กล้องส่องตรวจกล่องเสียง (laryngoscopy) เป็นต้น

การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. ถ้ามีอาการเพียงเล็กน้อย คือ มีไข้ ไอเสียงก้อง มีเสียงฮื้ดเป็นบางครั้งเฉพาะเวลาร้องไห้หรือเคลื่อนไหวร่างกาย โดยที่เด็กยังรู้สึกร่าเริง กินได้ ไม่อาเจียน ก็ให้การรักษาตามอาการ (เช่น ให้ยาลดไข้-พาราเซตามอล) ให้เด็กดื่มน้ำมาก ๆ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ให้ความชื้นโดยการวางอ่างน้ำไว้ข้างตัวเด็ก ขณะมีอาการกำเริบให้เด็กสูดไอน้ำอุ่น เช่น เปิดน้ำอุ่นจากก๊อกน้ำในห้องน้ำขณะปิดประตูห้องน้ำ แล้วนำเด็กเข้าไปอยู่ในนั้นนานอย่างน้อย 10 นาที หรือใช้ผ้าขนหนูจุ่มน้ำอุ่นให้หมาด ๆ แล้วนำมาจ่อใกล้ปากและจมูกเด็ก สังเกตอาการอย่างใกล้ชิดทุกวัน ส่วนใหญ่มักจะหายได้ภายใน 3-7 วัน

2. ถ้ามีอาการเสียงฮื้ดขณะพักอยู่นิ่ง ๆ หายใจลำบาก ซี่โครงและลิ้นปี่บุ๋ม ปากเขียว เล็บเขียว กลืนลำบาก กินไม่ได้ มีภาวะขาดน้ำ กระสับกระส่ายหรือซึม แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล ให้การรักษาโดยให้ออกซิเจนพ่นฝอยละอองน้ำให้ความชื้น ให้ยาสเตียรอยด์ลดการอักเสบและการบวมของเยื่อบุกล่องเสียง

ส่วนยาปฏิชีวนะจะให้เฉพาะในรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน

ในรายที่หายใจลำบาก ปากเขียว มีภาวะขาดออกซิเจน จำเป็นต้องใส่ท่อหายใจและใช้เครื่องช่วยหายใจ

ผลการรักษา ส่วนใหญ่มักจะหายได้เป็นปกติภายใน 1 สัปดาห์ มีส่วนน้อยที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง และมีอัตราตายต่ำมาก

การดูแลตนเอง

หากมีไข้ เจ็บคอ เสียงแหบและไอเสียงก้อง หรือหายใจลำบาก หรือสงสัยเป็นโรคครู้ป ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว ปฏิบัติตามคำแนะนำและแนวทางการรักษาพยาบาลของแพทย์อย่างจริงจัง

ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ) ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด

การป้องกัน

ปฏิบัติเช่นเดียวกับการป้องกันไข้หวัด ที่สำคัญคือ อย่าสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย และหมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่

ข้อแนะนำ

1. ผู้ป่วยที่มีอาการหายใจหอบและมีเสียงฮื้ด (stridor) ซึ่งแสดงว่ามีภาวะอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนต้น นอกจากโรคนี้แล้ว ยังอาจเกิดจากคอตีบ สำลักสิ่งแปลกปลอม กล่องเสียงบวมจากการแพ้  (ดู “โรคลมพิษ”) สปาสโมดิกครู้ป* ฝากล่องเสียงอักเสบเฉียบพลัน**

2. เด็กที่เคยเป็นโรคครู้ปชนิดรุนแรง บางรายอาจกลายเป็นโรคภูมิแพ้หรือโรคหืดเมื่อโตขึ้น

3. ถ้าอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 หรือมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยโรคนี้ หากมีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ (เช่น ไข้ เจ็บคอ เสียงแหบ น้ำมูกไหล ไอ ท้องเดิน หายใจเหนื่อยหอบ) หรือทำการตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจแอนติเจน (ATK) ด้วยตนเองให้ผลเป็นบวก ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

* สปาสโมดิกครู้ป (spasmodic croup) เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ และไม่เกี่ยวกับการติดเชื้อ เชื่อว่าเกิดจากการแพ้ หรือการระคายเคืองจากโรคกรดไหลย้อน พบบ่อยในเด็กอายุ 6 เดือนถึง 3 ปี มักมีประวัติว่ามีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วย มักมีอาการเกิดขึ้นฉับพลันเฉพาะตอนกลางคืน (ส่วนใหญ่เป็นช่วงประมาณเที่ยงคืน) ด้วยอาการไอ และมีเสียงฮื้ด โดยไม่มีไข้ และเสียงแหบไม่มาก บางรายอาจมีอาการหลังจากเป็นไข้หวัด หรือถูกควันหรืออากาศเย็น อาการมักจะไม่รุนแรง และเป็นอยู่นาน 2-4 ชั่วโมง พอรุ่งเช้าก็หายเป็นปกติ บางรายตกกลางคืนอาจกำเริบซ้ำได้อีก 4-5 คืน

การรักษา ให้การดูแลแบบเดียวกับครู้ปจากเชื้อไวรัส โดยทั่วไปมักไม่ต้องให้ยาอะไร ก็จะหายไปได้เอง แต่ถ้ามีอาการหายใจลำบาก หรือมีอาการเสียงฮื้ดขณะพักอยู่นิ่ง ๆ ก็ต้องเข้าไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลด่วน

** ฝากล่องเสียงอักเสบเฉียบพลัน (acute epiglottitis) เป็นภาวะติดเชื้อรุนแรงของฝากล่องเสียง (epiglottis) พบได้ทั้งในทารก เด็กโต และผู้ใหญ่ พบมากในเด็กอายุ 2-7 ปี เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ที่พบได้บ่อยสุด (ร้อยละ 90 ของผู้ป่วย) ได้แก่ ฮีโมฟิลุสอินฟลูเอนเซ (Hemophilus influenzae) นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากเชื้อสเตรปโตค็อกคัส สแตฟีโลค็อกคัส เป็นต้น มักมีอาการเกิดขึ้นฉับพลันและรุนแรง  โดยอยู่ ๆ ผู้ป่วยมีอาการไข้สูง เจ็บคอมาก เสียงแหบ กลืนลำบาก น้ำลายฟูมปาก หายใจลำบาก และมีเสียงฮื้ด มักไม่มีอาการไอหรือเจ็บหู เด็กจะมีท่าทางไม่สบายมาก กระสับกระส่าย ซี่โครงและลิ้นปี่บุ๋ม มักจะลุกขึ้นมานั่งในท่าเงยคางขึ้น เอนตัวไปข้างหน้า อ้าปากและแลบลิ้น เพื่อช่วยให้หายใจดีขึ้น หากไม่ได้รับการรักษาอาจเสียชีวิตภายในไม่กี่ชั่วโมง จัดเป็นโรคฉุกเฉินที่ต้องเข้าไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลด่วน

การรักษา ให้ออกซิเจน ใส่ท่อหายใจ อาจต้องเจาะคอช่วยหายใจ และให้ยาปฏิชีวนะ นาน 7-10 วัน

การป้องกัน สำหรับผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย แพทย์จะให้กินไรแฟมพิซิน วันละครั้ง นาน 4 วัน

 

ลงประกาศฟรี โฆษณาฟรี ลงประกาศขายบ้านฟรี ลงประกาศขายบ้าน ขายที่ดิน ขายคอนโด ขายรถ สินค้าอุตสาหกรรม อาหารเสริม เครื่องสำอางค์ แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว โปรโมทสินค้าฟรี เว็บประกาศฟรี ติดอันดับ Google