ผู้เขียน หัวข้อ: หมอออนไลน์: โรคหลอดเลือดอักเสบ (Vasculitis)  (อ่าน 257 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 522
    • ดูรายละเอียด
หมอออนไลน์: โรคหลอดเลือดอักเสบ (Vasculitis)
« เมื่อ: 07 กันยายน 2024, 12:26:49 pm »
หมอออนไลน์: โรคหลอดเลือดอักเสบ (Vasculitis)

Vasculitis หรือ โรคหลอดเลือดอักเสบเป็นความผิดปกติของหลอดเลือดภายในร่างกาย สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งหลอดเลือดดำและหลอดเลือดแดง โดยผู้ป่วยมักมีอาการปวดหัว เป็นไข้ มีผื่นหรือจ้ำแดงขึ้นตามร่างกาย

โรคหลอดเลือดสามารถแบ่งได้หลายประเภทตามตำแหน่งที่เกิดความผิดปกติ โดยสาเหตุของโรคมักมาจากการอักเสบของหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดตีบ บาง หรือแข็ง สำหรับการรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการ ความรุนแรง และโรคที่เป็นสาเหตุ


อาการของ Vasculitis

อาการโรคหลอดเลือดอักเสบอาจแบ่งออกได้เป็นอาการที่พบได้ทั่วไป เช่น ปวดหัว มีไข้ เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดตามร่างกาย ผื่นแดง ผื่นนูน อาการคัน ชา หรืออ่อนแรงตามส่วนต่าง ๆ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังพบอาการที่แตกต่างกันไปตามชนิดของโรค ดังนี้

    Cryoglobulinemia
    เป็นความผิดปกติของโปรตีนในเลือด โดยอาจส่งผลให้เกิดผื่น มีอาการปวดตามข้อ รู้สึกชา เป็นเหน็บ หรือมีอาการอ่อนแรงตามร่างกาย

    Microscopic Polyangiitis (MPA)
    เป็นความผิดปกติของหลอดเลือดบริเวณไต ปอด เส้นประสาท ผิวหนัง และข้อต่อ ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีไข้ ปวดท้อง หายใจตื้น ผื่นขึ้น น้ำหนักลด มีอาการชา ปวด หรือรู้สึกเหมือนมีเข็มทิ่มตามส่วนต่าง ๆ ไอเป็นเลือด และไตเกิดความผิดปกติ

    โรคเบเซ็ท (Behcet's Disease)
    เกิดจากการอักเสบของทั้งหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ ส่งผลให้เกิดแผลเปื่อยในปาก แผลที่อวัยวะเพศ ตาอักเสบ และเกิดแผลคล้ายตุ่มสิวตามผิวหนัง

    โรคเบอร์เกอร์ (Buerger's Disease)
    โรคเบอร์เกอร์ทำให้เกิดการอักเสบและลิ่มเลือดในหลอดเลือดบริเวณมือและเท้า ทำให้เกิดแผลตามมือและเท้า พร้อมทั้งมีอาการปวดตามส่วนนั้น ๆ ร่วมด้วย บางกรณีอาจพบความผิดปกติรูปแบบเดียวกันที่บริเวณหน้าท้อง สมอง และหัวใจได้

    โรคหลอดเลือดอักเสบ Churg-strauss Syndrome
    เป็นการอักเสบของหลอดเลือดทั่วร่างกาย โดยมักทำให้เกิดความผิดปกติของผิวหนัง ทางเดินอาหาร ไต นอกจากนี้ยังพบได้ที่เส้นประสาทบริเวณมือและเท้า ปอด  และสมอง ซึ่งอาการที่พบได้บ่อย เช่น ไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เหนื่อยล้า โรคหืด โรคภูมิแพ้ ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ รู้สึกอ่อนแรง หรือรู้สึกคล้ายเข็มทิ่มตามร่างกาย เป็นต้น

    โรคหลอดเลือดขมับอักเสบ (Giant Cell Arteritis)
    เป็นอาการอักเสบของหลอดเลือดบริเวณศีรษะ ลำคอ โดยเฉพาะบริเวณขมับ ซึ่งส่งผลให้ปวดศีรษะ ปวดกรามโดยเฉพาะขณะรับประทานอาหาร เจ็บหนังศีรษะ ตาพร่า เห็นภาพซ้อน หรือสูญเสียการมองเห็น

    โรคหลอดเลือดอักเสบ GPA (Granulomatosis With Polyangiitis)
    เป็นการอักเสบของหลอดเลือดบริเวณโพรงจมูก หู คอ ปอด และไต ส่งผลให้มีอาการคัดจมูก หายใจสั้น ไซนัสติดเชื้อ ไซนัสอักเสบ เลือดกำเดาไหล ไอเป็นเลือด และไตเกิดความผิดปกติ

    โรคหลอดเลือดขนาดเล็กอักเสบ (Henoch-schonlein Purpura)
    เป็นโรคที่เกิดจากเส้นเลือดฝอยอักเสบตามข้อต่อ ผิวหนัง ลำไส้ และไต ส่งผลให้เกิดอาการปวดข้อต่อ ปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียน ปัสสาวะหรืออุจจาระปนเลือด เกิดผื่นคล้ายรอยช้ำบริเวณสะโพกหรือขาส่วนล่าง

    โรคคาวาซากิ (Kawasaki Disease)
    โรคคาวาซากิเป็นชนิดของโรคหลอดเลือดอักเสบที่พบได้ยาก ผู้ป่วยอาจมีอาการเป็นไข้ ผื่นขึ้น ต่อมน้ำเหลืองโต จุดแดงตามนิ้วมือ นิ้วเท้า ดวงตา มือ ริมฝีปาก ลิ้น และช่องปาก

    โรคแพน (Polyarteritis Nodosa)
    เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดในไต ระบบทางเดินอาหาร เส้นประสาท ผิวหนัง ส่งผลให้เกิดผื่น ไม่สบายตัว น้ำหนักลด ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ ปวดท้องหลังรับประทานอาหาร เลือดออกในกระเพาะอาหาร ความดันโลหิตสูง รู้สึกอ่อนแรง และไตเกิดความผิดปกติ

    โรคทากายาสุ (Takayasu Arteritis)
    เป็นความผิดปกติของหลอดเลือดใหญ่ที่อาจเกิดการอักเสบ รวมถึงหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตา (Aorta) ที่อยู่บริเวณหัวใจด้วย ส่งผลให้ผู้ป่วยมีไข้ รู้สึกไม่สบายตัว เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดหรือเวียนศีรษะ ปวดตามข้อต่อ มือเท้าเย็นหรือชาตามมือและเท้า หายใจสั้น ชีพจรแผ่ว ความดันเลือดสูงขึ้น มีเหงื่อออกตอนกลางคืนหรือขณะนอนหลับ และการมองเห็นผิดปกติ

นอกจากนี้ ยังมีอาการหลอดเลือดอักเสบที่เป็นผลมาจากการติดเชื้อหรือผลข้างเคียงของยา (Hypersensitivity vasculitis) ส่งผลให้เกิดจุดแดงตามผิวหนังของผู้ป่วย โดยมักพบบริเวณขาส่วนล่าง


สาเหตุของ Vasculitis

ในปัจจุบันแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่โรคนี้จะทำให้หลอดเลือดเกิดการอักเสบหรือมีเลือดออก จึงอาจส่งผลให้ผนังหลอดเลือดหนาขึ้น บางลง หรือตีบลงได้ โดยความผิดปกติเหล่านี้จะส่งผลต่อการลำเลียงออกซิเจนและสารอาหารไปยังอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ดังนั้น เมื่อการไหลเวียนของเลือดผิดปกติไป ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ขึ้นมา

แม้ว่าโรคนี้ยังไม่พบสาเหตุ แต่เชื่อว่าปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันอาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคหลอดเลือดอักเสบขึ้นได้ เช่น การติดเชื้ออย่างโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี โรคมะเร็งเม็ดเลือด โรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน ผลข้างเคียงจากยา และการสูบหรี่ เป็นต้น นอกจากนี้ โรค Vasculitis บางชนิดอาจเป็นผลมาจากความผิดปกติของพันธุกรรม


การวินิจฉัย Vasculitis

เบื้องต้นแพทย์จะตรวจสอบประวัติการเจ็บป่วยและโรคต่าง ๆ รวมถึงตรวจร่างกายเบื้องต้น จากนั้นแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อวินิจฉัยและแยกโรคหลอดเลือดอักเสบออกจากโรคอื่นที่มีอาการคล้ายกัน โดยวิธีการที่แพทย์อาจนำมาตรวจเพื่อวินิจฉัยโรค มีดังนี้

    การตรวจเลือด
    เป็นการตรวจเพื่อหาการเปลี่ยนแปลงในเลือดที่อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อหรือการอักเสบ เช่น การทำงานของไต ปริมาณโปรตีน C-reaction หรือโปรตีนต้านการอักเสบ แอนติบอดีที่ต้านการติดเชื้อ รวมถึงการตรวจนับเกล็ดเลือด ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด และเม็ดเลือดขาว

    การตรวจปัสสาวะ
    การตรวจปัสสาวะมีจุดประสงค์เพื่อตรวจหาปริมาณเซลล์เม็ดเลือดแดงหรือปริมาณสารอื่น ๆ หากมีปริมาณมากกว่าปกติอาจเป็นสัญญาณความผิดปกติของโรค

    การตรวจชิ้นเนื้อ
    แพทย์จะทำการตัดและนำตัวอย่างเนื้อเยื่อในบริเวณที่มีอาการไปตรวจหาความผิดปกติเพิ่มเติม

    การถ่ายหลอดเลือดและอวัยวะ
    วิธีการนี้มีจุดประสงค์เพื่อตรวจสอบลักษณะของหลอดเลือดบริเวณที่เกิดความผิดปกติ เพื่อนำมาวิเคราะห์โรค โดยแพทย์จะทำการสอดท่อขนาดเล็กเข้าไปตามเส้นเลือดและทำการฉีดสีตามเข้าไปในท่อ จากนั้นก็จะทำการแสดงภาพด้วยรังสีเอกซ์ ซึ่งสีที่ฉีดเข้าไปจะช่วยให้ภาพของหลอดเลือดมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ แพทย์อาจทำการแสดงภาพด้วยวิธีการอื่น ๆ เช่น การอัลตราซาวด์หรือใช้คลื่นเสียงความถี่สูง การฉายรังสีเอกซ์แบบปกติ การแสดงภาพด้วยเครื่องเอกซเรย์ คอมพิวเตอร์ (CT) การแสดงภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือการใช้รังสีโพสิตรอนในการแสดงภาพ (PET)


การรักษา Vasculitis

การรักษาโรคหลอดเลือดอักเสบมุ่งเน้นไปที่การควบคุมการอักเสบของหลอดเลือด ร่วมกับการรักษาตามสาเหตุของโรค ซึ่งการรักษาแบ่งเป็นสองช่วง คือ ช่วงยับยั้งการอักเสบและช่วงป้องกันอาการกำเริบ เนื่องจากโรคนี้มีความเสี่ยงในการกลับมาเป็นซ้ำและอาจต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง

ในการรักษาการอักเสบ แพทย์อาจสั่งจ่ายยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์หรือยากลุ่มชีวบำบัด (Biologic Therapies) ซึ่งระยะเวลาการรักษาและยาที่แพทย์สั่งอาจขึ้นอยู่กับตำแหน่งของอวัยวะที่ผิดปกติ ชนิดและความรุนแรงของโรค นอกจากนี้ แพทย์อาจสั่งจ่ายยาตามอาการให้ผู้ป่วยในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเส้นเลือดโป่งพอง แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดเพื่อใส่คลิปหนีบ (Surgical Clipping) หรือขดลวด (Endovascular Coiling) บริเวณหลอดเลือดที่โป่งพอง เพื่อลดการไหลเวียนเลือดที่ผิดปกติ

อย่างไรก็ตาม การรักษาทั้งสองรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยาหรือการผ่าตัดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนได้จึงควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ


ภาวะแทรกซ้อนของ Vasculitis

โรคหลอดเลือดอักเสบอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลายอาการ ซึ่งอาจขึ้นอยู่กับตำแหน่งของหลอดเลือด และความรุนแรง ภาวะแทรกซ้อนของ Vasculitis อาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่อวัยวะภายในเสียหาย เกิดลิ่มเลือด เส้นเลือดโป่งพอง สูญเสียการมอง การติดเชื้อ ไปจนถึงอาการที่เป็นอันตรายต่อชีวิตหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษา

นอกจากนี้ การใช้ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ในการรักษาเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น น้ำหนักขึ้น โรคเบาหวาน และโรคกระดูกพรุน เป็นต้น ซึ่งความรุนแรงของผลข้างเคียงอาจเพิ่มสูงขึ้นตามระยะเวลาที่ใช้ยาในการรักษา


การป้องกัน Vasculitis

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดของโรคหลอดเลือดอักเสบ จึงไม่มีวิธีป้องกันโดยตรง แต่สามารถลดความเสี่ยงของโรคลงได้ด้วยการดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรง เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ เข้ารับวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม โรคนี้มีความเสี่ยงในการกลับมาเป็นซ้ำและอาจต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาการที่ต่อเนื่องกันของโรคอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ผู้ที่เคยเป็นโรคนี้ควรทำความเข้าใจอาการของโรค และพูดคุยกับผู้ป่วยที่เป็นโรคเดียวกันเกี่ยวกับการใช้ชีวิตร่วมกับโรคนี้

 

ลงประกาศฟรี โฆษณาฟรี ลงประกาศขายบ้านฟรี ลงประกาศขายบ้าน ขายที่ดิน ขายคอนโด ขายรถ สินค้าอุตสาหกรรม อาหารเสริม เครื่องสำอางค์ แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว โปรโมทสินค้าฟรี เว็บประกาศฟรี ติดอันดับ Google