ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจอาการตะคริว (Muscle cramps)  (อ่าน 72 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 580
    • ดูรายละเอียด
ตรวจอาการตะคริว (Muscle cramps)
« เมื่อ: 30 มิถุนายน 2024, 23:34:22 pm »
ตรวจอาการตะคริว (Muscle cramps)

ตะคริว หมายถึงอาการเกร็งตัว ทำให้มีอาการปวดและเป็นก้อนแข็งของกล้ามเนื้อ ซึ่งเกิดขึ้นฉับพลันและเป็นอยู่เพียงชั่วขณะก็ทุเลาไปได้เอง อาจเกิดที่กล้ามเนื้อส่วนใด ๆ ของร่างกายก็ได้ ที่พบได้บ่อย ได้แก่ กล้ามเนื้อน่องและต้นขา

อาจมีอาการขณะออกกำลังกาย ขณะเดิน ขณะนั่งพักหรือนอนพักก็ได้ บางรายอาจมีอาการตะคริวที่ขาขณะนอนหลับตอนกลางคืนจนสะดุ้งตื่น เรียกว่า ตะคริวที่ขาตอนกลางคืน (nocturnal leg cramps)

บางรายอาจเป็นตะคริวขณะออกกำลังหรือทำงานในที่ที่อากาศร้อน เรียกว่า ตะคริวจากความร้อน (heat cramps)

ตะคริวเป็นภาวะที่พบได้บ่อยมาก พบได้ในคนทุกวัย

ส่วนตะคริวที่ขาตอนกลางคืนพบได้บ่อยในคนวัยกลางคนและวัยสูงอายุ


สาเหตุ

ส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุชัดเจน

ส่วนน้อยที่ทราบสาเหตุ มักเกิดจากการใช้กล้ามเนื้อมากเกินหรือจนเมื่อยล้า การออกกำลังกายที่ใช้แรงหรือติดต่อกันนาน ๆ (เช่น วิ่งทางไกล ว่ายน้ำ เล่นกีฬา) การออกกำลังหรือทำงานในที่ที่อากาศร้อน ภาวะขาดน้ำ (จากท้องเดินหรืออาเจียน) การยืน นั่ง หรือทำงานอยู่ในท่าเดิมติดต่อกันนาน ๆ

นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น

    ภาวะเกลือแร่ (เช่น โซเดียม โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม) ในเลือดต่ำ
    ภาวะการตั้งครรภ์ เนื่องจากระดับแคลเซียมในเลือดต่ำหรือการไหลเวียนของเลือดไปที่ขาไม่สะดวก
    โรคหลอดเลือดแดงขาตีบ (พบบ่อยในผู้สูงอายุ ผู้ที่สูบบุหรี่ ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่จัด) อาจเป็นตะคริวที่ขา (บริเวณน่อง) บ่อย ขณะออกกำลังหรือเดินไกลหรือเดินนาน หรือเป็นตะคริวที่ขาตอนกลางคืน (ขณะที่อากาศเย็นตอนดึกหรือเช้ามืด เนื่องจากการไหลเวียนของเลือดไปที่ขาไม่ดี) และ/หรือมีอาการปวดน่อง 1-2 ข้างเวลาเดินไปสักพัก และทุเลาเองเมื่อหยุดเดิน (เมื่อเดินต่อก็มีอาการแบบเดิมอีก) (ดู "โรคหลอดเลือดแดงขาตีบ" ประกอบ)
    โรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ มักมีอาการปวดหลัง ปวดเสียวหรือชาที่ขา และปวดน่องเวลาเดินไปสักพักแบบเดียวกับโรคหลอดเลือดแดงขาตีบ บางรายอาจมีอาการเป็นตะคริวที่ขาตอนกลางคืน (ดู "โรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ" ประกอบ)
    การใช้ยา เช่น ยาขับปัสสาวะ (ไฮโดรคลอโรไทอาไซด์, ฟูโรซีไมด์), ยาลดไขมัน (ยากลุ่มสแตติน), ยาลดความดัน (ไนเฟดิพีน), ยาขยายหลอดลม (ซาลบูทามอล, เทอร์บูทาลีน), ยารักษาเบาหวาน (เมตฟอร์มิน), ยาแก้ซึมเศร้า (ฟลูออกซีทิน), ยาเม็ดคุมกำเนิด, ยาสเตียรอยด์, ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (naproxen, celecoxib), ยารักษาโรคกระเพาะ (lansoprazole), ยาแก้แพ้ (cetirizine), ยารักษาปลายประสาทอักเสบ (gabapentin) เป็นต้น
    พบร่วมกับโรคหรือภาวะอื่น ๆ เช่น เบาหวาน โรคพาร์กินสัน ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ โรคพิษสุราเรื้อรัง โลหิตจาง ภาวะขาดไทรอยด์ ภาวะขาดพาราไทรอยด์ (hypoparathyroidism) ตับแข็ง ไตวาย เป็นต้น


อาการ

ผู้ป่วยรู้สึกกล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่ง (เช่น น่องหรือต้นขา) มีการแข็งตัวและปวดมาก เอามือคลำดูจะรู้สึกแข็งเป็นก้อน ถ้าพยายามขยับเขยื้อนกล้ามเนื้อส่วนนั้นจะทำให้ยิ่งแข็งตัวและปวดมากขึ้น การนวดและยืดกล้ามเนื้อส่วนนั้น จะช่วยให้ตะคริวหายเร็วขึ้น

มักมีอาการเกิดขึ้นขณะออกกำลังกาย ขณะเดินนั่งพัก หรือนอนพัก

ถ้าเป็นขณะนอนหลับ ผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดจนสะดุ้งตื่น

โดยทั่วไปจะเป็นอยู่เพียงชั่วขณะ (นานไม่กี่วินาที ถึง 10-15 นาที) ก็หายได้เอง และไม่มีความผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เมื่อหายแล้วผู้ป่วยจะรู้สึกปกติทุกอย่าง

ถ้าเป็นรุนแรง อาจมีอาการตะคริวติด ๆ กันหลายครั้ง หรือเคลื่อนไหวหรือเกร็งกล้ามเนื้อเพียงเล็กน้อยก็กระตุ้นให้เกิดอาการขึ้นได้

ผู้ที่เขียนหนังสือติดต่อกันนาน ๆ ก็อาจเกิดตะคริวที่นิ้วหรือมือ เรียกว่า ตะคริวนักเขียน (writer’s cramps หรือ graphospasm) ซึ่งก็อาจพบในช่างทาสี หรือเกษตรกรที่ใช้มือจับหยิบอุปกรณ์ใช้งานนาน ๆ


ภาวะแทรกซ้อน

ส่วนใหญ่มักเป็นชั่วขณะแล้วทุเลาไปได้เอง ไม่มีอันตรายร้ายแรง

หากเป็นติดต่อกันนาน ๆ ขณะเล่นกีฬาหรือว่ายน้ำ อาจทำให้หกล้มหรือจมน้ำได้


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและตรวจพบกล้ามเนื้อเกร็งแข็ง

การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. ขณะที่พบผู้ป่วยเป็นตะคริว แพทย์จะทำการแก้ไขโดยการยืดกล้ามเนื้อส่วนนั้นให้ตึง เช่น

    ถ้าเป็นตะคริวที่น่องจะเหยียดหัวเข่าตรงและดึงปลายเท้ากระดกเข้าหาหัวเข่าให้มากที่สุด
    ถ้าเป็นตะคริวที่ต้นขาจะเหยียดหัวเข่าตรง ยกเท้าขึ้นให้พ้นจากเตียงเล็กน้อยและกระดกปลายเท้าลงล่าง (ไปทางด้านตรงข้ามกับหัวเข่า)

นอกจากนี้ อาจใช้มือนวดคลึงเบา ๆ ตรงกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริว หรือประคบด้วยน้ำอุ่นจัด ๆ

2. ถ้าเป็นตะคริวขณะเข้านอนตอนกลางคืนบ่อย ๆ (เช่น หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ) ก่อนนอนควรดื่มนมให้มากขึ้นและยกขาสูง (ใช้หมอนรอง) จากเตียงประมาณ 10 ซม. (4 นิ้ว) ในหญิงตั้งครรภ์อาจให้ยาเม็ดแคลเซียมแลกเทต กินวันละ 1-3 เม็ด

3. ถ้าเป็นตะคริวจากระดับโซเดียมในเลือดต่ำ (เช่น เกิดจากท้องเดิน อาเจียน ออกกำลังหรือทำงานในที่ที่อากาศร้อน เหงื่อออกมาก) ควรให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ ถ้าดื่มไม่ได้ ควรให้น้ำเกลือนอร์มัลทางหลอดเลือดดำ

4. ถ้ามีอาการมือเท้าจีบเกร็งพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง มักเกิดจากกลุ่มอาการระบายลมหายใจเกิน ก็ให้การรักษาตามสาเหตุ (ดู "กลุ่มอาการระบายลมหายใจเกิน")

5. ถ้าเป็น ๆ หาย ๆ บ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นขณะเดินนาน ๆ หรือขณะนอนหลับ แพทย์จะตรวจหาสาเหตุ (เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ เป็นต้น) และให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ (เช่น เบาหวาน ไตวาย ตับแข็ง โลหิตจาง โรคหลอดเลือดแดงขาตีบ โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ โรคพาร์กินสัน ต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน ภาวะขาดไทรอยด์ โรคแอดดิสัน เป็นต้น)

ในรายที่เป็นตะคริวตอนกลางคืนโดยไม่ทราบสาเหตุชัดเจน แพทย์จะให้กินยา เช่น ไดเฟนไฮดรามีน (diphenhydramine) เวราพามิล (verapamil) หรือดิลไทอะเซม (diltiazem) ก่อนนอนทุกคืน อาจช่วยป้องกันไม่ให้เป็นตะคริวขณะเข้านอนได้

การดูแลตนเอง

ขณะที่เป็นตะคริว ให้นั่งหรือนอนพัก แล้วทำการแก้ไขดังนี้

    ทำการยืดกล้ามเนื้อส่วนนั้นให้ตึง เช่น

       - ถ้าเป็นตะคริวที่น่องให้เหยียดหัวเข่าตรงและดึงปลายเท้ากระดกเข้าหาหัวเข่าให้มากที่สุด

       - ถ้าเป็นตะคริวที่ต้นขาให้เหยียดหัวเข่าตรง ยกเท้าขึ้นให้พ้นจากเตียงเล็กน้อยและกระดกปลายเท้าลงล่าง (ไปทางด้านตรงข้ามกับหัวเข่า)

    ใช้มือนวดคลึงเบา ๆ ตรงกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริว
    ประคบด้วยน้ำอุ่นจัด ๆ 
    ดื่มน้ำ 1-2 แก้ว (ถ้ามีภาวะขาดน้ำ หรือปัสสาวะออกน้อย)

ควรปรึกษาแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีอาการปวดตะคริวรุนแรงหรือให้การแก้ไขแล้วไม่ทุเลา
    เป็น ๆ หาย ๆ บ่อย โดยเฉพาะอย่างเป็นตะคริวตอนกลางคืนแทบทุกคืน หรือทำให้นอนไม่พอ
    มีอาการปวดเสียวหรือชาที่ขาร่วมด้วย หรือสงสัยเป็นโรคหลอดเลือดแดงขาตีบ โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ
    มีอาการน้ำหนักลด ซีด ใจสั่น มือสั่น แขนขาเกร็ง อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ปัสสาวะบ่อย หน้าบวมฉุ ท้องบวม ขาบวม หรือขาอ่อนแรง
    สงสัยตั้งครรภ์ หรือมีสาเหตุจากผลข้างเคียงของยา


การป้องกัน

1. หลีกเลี่ยงการออกกำลังหรือใช้กล้ามเนื้อมากเกิน

2. ป้องกันภาวะขาดน้ำ โดยการดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว และควรดื่มน้ำให้เพียงพอก่อนออกกำลังกาย

3. ป้องกันการขาดโพแทสเซียม โดยการกินผลไม้ (เช่น กล้วย ส้ม) เป็นประจำ หรือในรายที่ใช้ยาขับปัสสาวะติดต่อกันนาน ๆ ควรเสริมด้วยยาโพแทสเซียมคลอไรด์

4. ดื่มน้ำผลไม้หรือสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ ก่อนและระหว่างออกกำลังหรือทำงานในที่ที่อากาศร้อน หรือมีเหงื่อออกมาก

5. ทำการบริหารยืดกล้ามเนื้อก่อนออกกำลังกาย

6. ผู้ที่เป็นตะคริวตอนกลางคืน ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายตอนกลางคืน และก่อนนอนควรทำการบริหารยืดกล้ามเนื้อหรือขี่จักรยานนาน 2-3 นาที หรือกินยาป้องกันตามคำแนะนำของแพทย์


ข้อแนะนำ

1. ผู้ป่วยที่เป็นตะคริวมักจะมีอาการไม่รุนแรงและหายได้เองเป็นส่วนใหญ่ สำหรับผู้ที่มีอาการกำเริบบ่อย หรือมักเป็นตะคริวตอนกลางคืน ควรปรึกษาแพทย์ เพราะอาจมีโรคที่เป็นสาเหตุของการเป็นตะคริวได้ ซึ่งจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ

2. ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน หรือผู้ที่มีประวัติสูบบุหรี่มานาน ที่เป็นตะคริวบ่อย และ/หรือมีอาการปวดน่อง 1-2 ข้างเวลาเดินไปสักพัก และทุเลาเองเมื่อหยุดเดิน (เมื่อเดินต่อก็มีอาการแบบเดิมอีก) เป็นประจำ อาจเป็นอาการแสดงของ โรคหลอดเลือดแดงขาตีบ ซึ่งอาจมีโรคหลอดเลือดหัวใจหรือหลอดเลือดสมองตีบร่วมด้วย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการตรวจรักษาแต่เนิ่น ๆ

3. ผู้ที่เป็นตะคริวบ่อย มีอาการปวดน่อง 1-2 ข้างเวลาเดินไปสักพัก (ทุเลาเองเมื่อหยุดเดิน) และมีอาการปวดหลังร่วมกับมีอาการปวดเสียวหรือชาที่ขา อาจเป็นโรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการตรวจรักษาแต่เนิ่นๆ


 

ลงประกาศฟรี โฆษณาฟรี ลงประกาศขายบ้านฟรี ลงประกาศขายบ้าน ขายที่ดิน ขายคอนโด ขายรถ สินค้าอุตสาหกรรม อาหารเสริม เครื่องสำอางค์ แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว โปรโมทสินค้าฟรี เว็บประกาศฟรี ติดอันดับ Google