โรคหัวใจในเด็ก สามารถรักษาได้ โดยไม่ต้องผ่าตัด การรักษาโรคหัวใจในประเทศไทยได้พัฒนาขึ้นจากเดิมเป็นอย่างมาก โดยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดบางชนิดสามารถทำการรักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัดเปิดหน้าอก โดยการนำอุปกรณ์พิเศษสอดผ่านทางเส้นเลือดเข้าสู่หัวใจเพื่อปิดรูรั่ว
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
ชนิดตัวเขียว คือ มีเม็ดเลือดดำที่ยังไม่ได้ฟอกออกมาผสมกับเม็ดเลือดแดง
ชนิดตัวไม่เขียว คือ ไม่มีเลือดดำที่ยังไม่ได้ฟอกที่ปอดมาผสมกับเลือดแดง
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เกิดจาก…
ไม่ทราบสาเหตุมากที่สุด ประมาณ 90 %
มีความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ หรือโครโมโซม เช่น โครโมโซม คู่ที่ 21 ทำให้เกิดเป็นโรค ดาวน์ซินโดรมร่วมกับเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
เกิดจากคุณแม่ติดเชื้อขณะที่ตั้งครรภ์ โดยเฉพาะภายใน 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เช่นคุณแม่ติดเชื้อหัดเยอรมัน เป็นต้น
คุณแม่ถูกรังสี X-Ray ในช่วง 3 เดือนแรก ของการตั้งครรภ์
คุณแม่ทานยาบางชนิด เช่น ยารักษาสิว ยากันชัก หรือยาในกลุ่มแอมเฟตามีน เป็นต้น
สุดท้าย คือ กลุ่มคุณแม่ที่มีอายุมากขณะตั้งครรภ์ เช่นอายุเกิน 35 ปี
โรคหัวใจภายหลังคลอด ที่เราพบได้แก่…
โรคหัวใจรูมาติค
โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
โรคคาวาซากิ
โรคหัวใจจากการขาดวิตามินบี 1 (เหน็บชา)
การเต้นผิดปกติของหัวใจ
**สำหรับโรคคาวาซากิเรายังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่พบมากขึ้นในปัจจุบัน
อาการที่บ่งบอกว่าลูกอาจเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
1. ลูกดูดนมแล้วเหนื่อยง่ายกว่าเด็กทั่วไป
เด็กที่ได้เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดจะใช้ระยะเวลาดูดนมนานกว่าปกติ และมักต้องดูดๆ หยุดๆ ดูดนมได้น้อยกว่าปกติ เนื่องจากผนังหัวใจรั่วทำให้เลือดไหลผ่านรูรั่วไปที่ปอดมากกว่าปกติ หัวใจและปอดทำงานจึงมากกว่าปกติ
2. เด็กหายใจเร็วกกว่าปกติ
เนื่องจาก ผนังหัวใจรั่ว ทำให้เลือดไหลผ่านรูรั่วไปที่ปอดมากกว่าปกติ มีผลทำให้มีการแลกเปลี่ยนแก๊สที่ปอดได้ไม่ดีเท่าที่ควรทำให้เด็กหายใจเร็วกว่าปกติ
3. เด็กเลี้ยงไม่ค่อยโต
เนื่องจากเด็กเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดจะใช้พลังงานมากกว่าปกติ ทำให้เหลือไปใช้ในการเจริญ เติบโตน้อยกว่าปกติ ร่างกายจึงเจริญเติบโตช้า
4. เด็กเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดจะมีเมตาบอลิซึ่มสูงกว่าเด็กปกติทั่วไป
สังเกตได้จาเด็กมีเหงื่อออกมาก ตัวเย็น ซีดมากกว่าเด็กทั่วไป
5. หัวใจลูกเต้นแรงและเร็วกว่าปกติ
หากคุณแม่คลำที่หน้าอกหรือดูที่หน้าอกจะพบว่าหัวใจเต้นเร็ว เต้นแรง
6. เขียว
โรคหัวใจพิการตั้งแต่กำเนิด ชนิดเขียวจะสังเกตได้ว่ามีริมฝีปาก ปลายมือ ปลายเท้าเขียวร่วมด้วย
การรักษาโรคหัวใจในเด็ก สามารถแบ่งได้ตามระดับความรุนแรงของโรค..
การรักษาโดยยา เช่น ยารักษาภาวะหัวใจวาย
การรักษาโดย Intervention เช่นด้วย balloon หรือ อุปกรณ์พิเศษปิดรูรั่ว เป็นต้น
การรักษาโดยการผ่าตัด
ทางโรงพยาบาลได้นำเทคโนโลยีในการรักษาโรคหัวใจโดยไม่ต้องผ่าตัดแบบใดมาใช้บ้าง?
ปัจจุบันทางโรงพยาบาลนำการรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด คือการรักษาปิดรูรั่ว PDA (Patent Ductus Arteriosus) หรือภาวะเส้นเลือดเกิน, การปิดรูรั่วของผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่ว (ASD) ซึ่งมีขั้นตอนที่ง่ายและปลอดภัย โดยเฉพาะการรักษาปิดรูรั่ว PDA และ ASD
การรักษาโรคหัวใจในเด็กโดยไม่ต้องผ่าตัดมีขั้นตอนอย่างไร?
สำหรับการรักษาในปัจจุบันจะเป็นการรักษาโดยไม่ต้องทำการผ่าตัด เป็นการนำอุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายร่มสอดเข้าไปทางเส้นเลือดดำเข้าไปทางหัวใจเพื่อไปอุดรูรั่วใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง เด็กจะไม่มีรอยแผลเป็น หลังการรักษาหากเด็กไม่มีภาวะแทรกซ้อนก็สามารถกลับไปรักษาตัวต่อที่บ้านได้ทันทีและสามารถใช้ชีวิตปกติ
ในกรณีที่ผ่าตัดเด็กจะต้องเสี่ยงต่อการผ่าตัดและการดมยาสลบ หลังผ่าตัดต้องดูแลอย่างใก้ลชิดใน ICU และต้องใช้เวลาในการดูอาการใน ICU ประมาณ 1-2 วัน ซึ่งจะทำให้มีค่าใช้จ่ายในการรักษาเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันสามารถให้การรักษาโดยวิธีอุดรูรั่ว ทั้ง PDA และ ASD ซึ่งปลอดภัยและมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่า
คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลลูกที่เป็นโรคหัวใจอย่างไรบ้าง
ในการดูแลเด็กที่ทำการผ่าตัดโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดแล้วนั้น เด็กจะสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนกับเด็กปกติทั่วไป สามารถออกกำลังกายได้ตามปกติ สำหรับเด็กที่ยังไม่ได้ผ่าตัดควรจะประคับประคองให้เด็กสามารถเจริญเติบโต เพื่อให้เขามีสุขภาพและร่างกายที่พร้อมที่จะรับการผ่าตัด ที่สำคัญที่สุดคือห้ามให้เด็กติดเชื้อ โดยเฉพาะปอดบวม ให้รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ห้ามออกกำลังกายในเชิงแข่งขัน แต่พยายามให้เขาใช้ชีวิตประจำวันคล้ายปกติ สุดท้ายให้เด็กได้รับวัคซีนสำหรับป้องกันโรคต่างๆ เพื่อให้เขาไม่ติดเชื้อ เนื่องจากเด็กที่เป็นโรคหัวใจจะติดเชื้อง่าย และมีโอกาสเป็นโรคเรื้อรังมากกว่าเด็กทั่วไป
โรคหัวใจในเด็ก สามารถรักษาได้ โดยไม่ต้องผ่าตัด อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/