ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: เยื่อบุช่องท้องอักเสบ (Peritonitis)  (อ่าน 2 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 518
    • ดูรายละเอียด
ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: เยื่อบุช่องท้องอักเสบ (Peritonitis)

เยื่อบุช่องท้อง (peritoneum) เป็นเยื่อ 2 ชั้นที่คลุมอยู่โดยรอบช่องท้อง ซึ่งปกคลุมกระเพาะอาหาร ลำไส้และอวัยวะต่าง ๆ ภายในช่องท้อง

การอักเสบของเยื่อบุช่องท้องเป็นภาวะร้ายแรง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจเป็นอันตรายถึงตายได้ มักเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคต่าง ๆ ภายในช่องท้อง


สาเหตุ

สาเหตุที่พบได้บ่อยก็คือ การแตกทะลุของกระเพาะลำไส้ เช่น กระเพาะอาหารทะลุ ไส้ติ่งแตก ลำไส้ทะลุจากไข้ไทฟอยด์ ลำไส้ทะลุเนื่องจากถูกยิงถูกแทง หรือกระเพาะหรือลำไส้อุดกั้น* เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสาเหตุมาจากปีกมดลูกอักเสบ ครรภ์นอกมดลูก ถุงน้ำดีอักเสบ ท่อน้ำดีอักเสบ ฝีตับอะมีบา  ตับอ่อนอักเสบ เป็นต้น เป็นเหตุให้มีเชื้อแบคทีเรีย หรือสิ่งระคายเคืองไปทำให้เยื่อบุช่องท้องเกิดการอักเสบ

*ในบ้านเรามีรายงานว่า มีผู้ป่วยกินเมล็ดกระท้อน เกิดภาวะลำไส้อุดกั้น เป็นผลให้ลำไส้ทะลุกลายเป็นเยื่อบุช่องท้องอักเสบ


อาการ

มีอาการปวดท้องรุนแรง (อาจปวดเฉพาะที่หรือปวดทั่วท้อง แล้วแต่สาเหตุ) ขยับเขยื้อนหรือกระเทือนถูกจะรู้สึกเจ็บ ผู้ป่วยมักจะต้องนอนนิ่ง ๆ อาการปวดท้องมักเป็นติดต่อกันหลายชั่วโมงจนถึงหลายวัน นอกจากนี้ยังมีอาการท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว เบื่ออาหาร และอาจมีอาการท้องเดิน

ถ้าเป็นรุนแรงอาจมีภาวะช็อก ผู้ป่วยมีอาการกระสับกระส่าย เหงื่อออก ตัวเย็น ใจสั่น เป็นลม


ภาวะแทรกซ้อน

ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ผู้ป่วยมักมีภาวะขาดน้ำรุนแรง มีภาวะโลหิตเป็นพิษ และภาวะช็อก ซึ่งเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว

บางรายอาจเกิดมีหนองขังอยู่เฉพาะแห่ง เช่น ที่ช่องเชิงกราน (pelvic abscess) ใต้กะบังลม (subphrenic abscess) เป็นต้น


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้

มีไข้สูง บางครั้งอาจมีภาวะขาดน้ำ (ปากแห้ง ลิ้นเป็นฝ้า ตาโบ๋)

กล้ามเนื้อหน้าท้องมักจะมีอาการเกร็งแข็ง เรียกว่า ท้องแข็ง (rigidity หรือ guarding)

หน้าท้องมีอาการกดเจ็บ (tenderness) แม้เพียงแต่ใช้มือเคาะถูกเบา ๆ ก็รู้สึกเจ็บ

ถ้าใช้มือค่อย ๆ กดหน้าท้องลึก ๆ แล้วปล่อยมือให้ผนังหน้าท้องกระเด้งกลับทันที ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บมาก เรียกว่า อาการกดปล่อยแล้วเจ็บ (rebound tenderness) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้

ถ้าใช้เครื่องฟังตรวจที่ท้องจะไม่ได้ยินเสียงโครกครากของลำไส้

ถ้าเป็นรุนแรงอาจพบชีพจรเบาเร็ว ความดันโลหิตตก ซึ่งแสดงว่ามีภาวะช็อกเกิดขึ้นแล้ว

แพทย์จะวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ อัลตราซาวนด์เพื่อค้นหาสาเหตุ


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะรับตัวผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล และให้การดูแลรักษาโดยให้น้ำเกลือ และยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ ใส่ท่อยางเข้าหลอดอาหารและกระเพาะเพื่อดูดเศษอาหารและของเหลวออกมา และให้การรักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบ

ในรายที่จำเป็น แพทย์จะทำการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการปวดท้องร่วมกับไข้สูง ปวดท้องรุนแรง ปวดท้องต่อเนื่องนานเกิน 6 ชั่วโมง ขยับเขยื้อนหรือกระเทือนถูกจะรู้สึกเจ็บ หรือ หน้าท้องเกร็งแข็ง ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว 

เมื่อตรวจพบว่าเป็นเยื่อบุช่องท้องอักเสบ ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามการรักษากับแพทย์ตามนัด

ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ) ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด


การป้องกัน

โรคนี้มักเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคอื่น เช่น โรคแผลเพ็ปติก ไส้ติ่งอักเสบ ไทฟอยด์ ถุงน้ำดีอักเสบ เป็นต้น การป้องกัน คือ การรักษาโรคอื่นให้ถูกต้องและทันการณ์ตั้งแต่แรก

ข้อแนะนำ

โรคนี้แม้ว่าจะเป็นภาวะร้ายแรง แต่ถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีด้วยการผ่าตัด และการให้ยาปฏิชีวนะ ก็มักจะปลอดภัยและหายขาดได้ ดังนั้น ถ้าหากพบว่าผู้ป่วยมีอาการปวดท้องรุนแรงที่ชวนให้สงสัยว่าเป็นเยื่อบุช่องท้องอักเสบ ควรส่งไปรักษาโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

 

ลงประกาศฟรี โฆษณาฟรี ลงประกาศขายบ้านฟรี ลงประกาศขายบ้าน ขายที่ดิน ขายคอนโด ขายรถ สินค้าอุตสาหกรรม อาหารเสริม เครื่องสำอางค์ แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว โปรโมทสินค้าฟรี เว็บประกาศฟรี ติดอันดับ Google