ผู้เขียน หัวข้อ: หมอออนไลน์: ผิวหนังอักเสบชนิดเกล็ดรังแค (Seborrheic dermatitis)  (อ่าน 33 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 533
    • ดูรายละเอียด
หมอออนไลน์: ผิวหนังอักเสบชนิดเกล็ดรังแค (Seborrheic dermatitis)

ผิวหนังอักเสบชนิดเกล็ดรังแค (โรคผื่นแพ้ต่อมไขมัน โรคผิวหนังอักเสบเซ็บเดิร์ม หรือเซ็บเดิร์มก็เรียก) เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเป็นผื่นแดงคันร่วมกับเป็นเกล็ดรังแค มักเป็นที่หนังศีรษะ และบริเวณที่มีต่อมไขมันมาก เช่น ใบหน้า ร่องจมูก หู คิ้ว เปลือกตา หน้าอก เป็นต้น

โรคนี้มักเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง แต่ไม่เป็นโรคติดต่อให้ผู้อื่น (การสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยไม่ทำให้ติดโรค)

พบได้ในคนทุกวัย พบบ่อยในทารกอายุต่ำกว่า 3 เดือน และผู้ใหญ่อายุ 30-50 ปี พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และพบบ่อยในผู้ที่มีผิวมัน

สาเหตุ

สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบ เชื่อว่าเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง รวมทั้งเกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายต่อเชื้อราที่มีชื่อว่ามาลัสซีเซียเฟอร์เฟอร์ (Malassezia furfur) ซึ่งอยู่ตามไขมันของผิวหนัง

การเกิดอาการและความรุนแรงของโรค เกี่ยวข้องกับปัจจัยทางกรรมพันธุ์ ความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ สภาพอากาศซึ่งเป็นได้ทั้งในหน้าร้อน (ต่อมไขมันบริเวณผิวหน้าสร้างไขมันออกมามาก ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ผื่นกำเริบได้มากขึ้น) และหน้าหนาว (อากาศแห้ง ซึ่งก็กระตุ้นให้โรคกำเริบ) การอยู่ในห้องปรับอากาศนาน ๆ หรือการถูกแสงแดดจัด

นอกจากนี้อาจเกี่ยวข้องกับการใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษามะเร็ง (เช่น dasatinib, 5-FU, cetuximab), ยาทางจิตเวช (เช่น lithium, phenothiazines), ยาฆ่าเชื้อรา-กริซีโอฟุลวิน, ยารักษาความดัน-เมทิลโดพา, ยารักษาโรคกระเพาะ-ไซเมทิดีน, ยาทาสิว-กรดเรติโนอิก (retinoic acid) เป็นต้น

โรคนี้ยังอาจพบในผู้ที่เป็นโรคระบบประสาท (เช่น พาร์กินสัน โรคลมชัก โรคหลอดเลือดสมอง ศีรษะได้รับบาดเจ็บ เป็นต้น) โรคซึมเศร้า โรคพิษสุราเรื้อรัง สิว โซริอาซิส (สะเก็ดเงิน)

ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี มักจะมีอาการแสดงของโรคนี้แบบรุนแรงได้


อาการ

มีลักษณะเด่น คือ มีเกล็ดรังแค ลักษณะเป็นขุยสีขาวหรือเหลือง มีมันเยิ้ม หรือเป็นผื่นแดง คัน หรือพบอาการดังกล่าวร่วมกันในรายที่มีการอักเสบมากขึ้น

ตำแหน่งที่พบได้บ่อยที่สุด คือ หนังศีรษะ ถ้าเป็นเล็กน้อยจะพบเฉพาะเกล็ดรังแค แต่ถ้ามีการอักเสบมากจะเห็นเป็นผื่นแดง ซึ่งผื่นมักจะไม่เลยไรผมลงมาที่ต้นคอหรือหน้าผาก ในรายที่เป็นไม่มากมักมีอาการเกิดขึ้นที่บริเวณศีรษะเพียงอย่างเดียว

หากเป็นมากขึ้นก็จะพบผื่นที่ใบหน้า ได้แก่ บริเวณหัวคิ้ว ร่องจมูก ใบหู เปลือกตา (หนังตา) อาจพบหนังตาอักเสบ หนังตาแดงและมีเกล็ดสีขาวที่ขอบตาซึ่งเขี่ยออกได้ง่าย

ในรายที่เป็นรุนแรง จะเกิดผื่นที่หน้าอก กลางหลัง สะดือ หัวหน่าว ก้น และบริเวณข้อพับต่าง ๆ ร่วมด้วย

ในทารก อาจมีอาการตั้งแต่แรกเกิดถึง 3 เดือน มักมีอาการเป็นสะเก็ดหนาสีเหลืองขึ้นที่หนังศีรษะ (เรียกว่า cradle cap) ซึ่งมักจะไม่คัน บางรายอาจมีร่องแตก หรือขุยสีเหลืองที่หลังหู ผื่นแดงที่ใบหน้า และผื่นผ้าอ้อม และอาการมักจะหายไปก่อนอายุ 1 ปี พอย่างเข้าวัยรุ่นก็อาจมีอาการกำเริบขึ้นใหม่

ในเด็กโต อาจมีอาการเป็นแผ่นเกล็ดหนา ๆ เหนียว ๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 ซม. ที่หนังศีรษะ

อาการมักเป็น ๆ หาย ๆ มักกำเริบเมื่อมีสิ่งกระตุ้น เช่น ความเครียด พักผ่อนไม่พอ ร่างกายอ่อนล้า อยู่ในห้องปรับอากาศ เจออากาศเย็น อากาศร้อน หรืออากาศแห้งนาน ๆ  ถูกแสงแดดจัด ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยาบางชนิด เป็นต้น

ผิวหนังอักเสบชนิดเกล็ดรังแค

ภาวะแทรกซ้อน

ส่วนใหญ่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน นอกจากในรายที่มีอาการคันมาก อาจเกาจนมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน หรือมีเลือดออกได้

เนื่องจากเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และรอยโรคอาจแลดูน่าเกลียด อาจส่งผลต่อจิตใจโดยตรง ทำให้รู้สึกเป็นปมด้อย หรือขาดความมั่นใจในตัวเอง


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ

บางรายแพทย์อาจทำการขูดเอาเซลล์ผิวหนังจากรอยโรคไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อแยกออกจากสาเหตุอื่น เช่น โซริอาซิส (สะเก็ดเงิน) โรคเกลื้อน โรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ เป็นต้น

การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. ในรายที่มีรังแคและผื่นแดงที่หนังศีรษะ สระผมด้วยแชมพูที่มีตัวยารักษารังแค เช่น ซิลีเนียมซัลไฟด์ (selenium sulfide), ซิงค์ไพริไทโอน (zinc pyrithione), คีโตโคนาโซล, น้ำมันดิน (coal tar) เป็นต้น วันละครั้ง หรือวันเว้นวัน แต่ละครั้งควรฟอกทิ้งไว้นาน 5-15 นาที จนกว่ารังแคจะดีขึ้น หลังจากนั้นใช้สระผมสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง

ส่วนรอยโรคที่บริเวณอื่น เช่น ใบหน้า หู หน้าอก รักแร้ ขาหนีบ เป็นต้น ใช้ครีมคีโตโคนาโซล ชนิด 2% ทาวันละ 2-3 ครั้ง

2. ถ้าให้การรักษาดังกล่าวไม่ได้ผล ใช้ครีมสเตียรอยด์ทา ถ้าเป็นที่หนังศีรษะและบริเวณที่มีขน ใช้โลชั่นไตรแอมซิโนโลนชนิด 0.01% ทาวันละ 2 ครั้ง จนกว่าจะดีขึ้น ส่วนบริเวณใบหน้า ใช้สเตียรอยด์ที่ออกฤทธิ์อ่อน ได้แก่ ครีมไฮโดรคอร์ติโซนชนิด 1% ทาวันละ 2-3 ครั้ง เมื่อดีขึ้นให้ทาต่อไปวันละครั้ง

3. ในรายที่มีหนังตาอักเสบจากโรคนี้ ใช้ไม้พันสำลีชุบน้ำสุก หรือน้ำเกลือเช็ดชำระเอาเกล็ดรังแคออก และใช้แชมพูรักษารังแค เช่น ซีลีเนียมซัลไฟด์ (selenium sulfide) ซิงค์ไพริไทโอน (zinc pyrithione) หรือโคลทาร์ (coal tar) สระผมและบริเวณที่เป็นรังแคทุกวัน ถ้าหนังตามีอาการคันหรือบวมแดงมาก ให้ใช้ยาหยอดตาสเตียรอยด์ทาตรงบริเวณขอบตาวันละ 3-4 ครั้ง

4. ในทารกและเด็กเล็ก ใช้แชมพูชนิดอ่อน (mild baby shampoo) สระผมวันละครั้ง และทาด้วยครีมไฮโดรคอร์ติโซนชนิด 1% วันละ 2 ครั้ง ในรายที่มีแผ่นเกล็ดหนาที่หนังศีรษะ ใช้ยาละลายขุย เช่น โลชั่นกรดไซลิไซลิกทาก่อนนอนทุกวันจนกว่าจะดีขึ้น

5. ถ้าให้การรักษา 1-2 สัปดาห์แล้วไม่ดีขึ้น หรือสงสัยเป็นโรคอื่น เช่น โซริอาซิส เอดส์ เป็นต้น แพทย์จะทำการตรวจหาสาเหตุและให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ

ถ้าพบว่าเป็นโรคนี้ในผู้ป่วยเอดส์ แพทย์จะให้กินยาคีโตโคนาโซล 400 มก. วันละครั้ง นาน 2 สัปดาห์ เพื่อรักษาโรคนี้ควบคู่กับการใช้ยารักษาโรคเอดส์


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีเกล็ดรังแคลักษณะเป็นขุยสีขาวหรือเหลือง มีมันเยิ้ม หรือเป็นผื่นแดง คันตามหนังศีรษะ หัวคิ้ว ร่องจมูก ใบหู เปลือกตา หน้าอก กลางหลัง สะดือ หัวหน่าว ก้น หรือบริเวณข้อพับต่าง ๆ ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นผิวหนังอักเสบชนิดเกล็ดรังแค ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา ใช้ยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
    สวมใส่เสื้อผ้าที่เนื้อเรียบนุ่มซึ่งทำจากผ้าฝ้าย เพื่อให้อากาศระบายได้ดี ลดการระคายเคือง
    พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ หาทางผ่อนคลายความเครียด และออกกำลังกายเป็นประจำ
    หลีกเลี่ยงอากาศที่ร้อนจัด เย็นจัด แห้งจัด การออกกลางแดดจัด และการดื่มสุรา
    หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางทุกชนิด ครีมใส่ผม สเปรย์ผม ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ และสบู่ที่มีฤทธิ์แรง 
    หลีกเลี่ยงการใช้ยาบางชนิดที่กระตุ้นให้อาการกำเริบ 
    หลีกเลี่ยงการแกะเกาผื่นที่คัน อาจทำให้เกิดการติดเชื้อตามมาได้


ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลาใน 1-2 สัปดาห์ หรือมีอาการกำเริบใหม่
    ผื่นกลายเป็นตุ่มหนอง แผลพุพอง หรือมีน้ำเหลืองไหล
    ขาดยา หรือยาหาย
    ใช้ยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน

ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุ

ผู้ป่วยควรดูแลรักษา ใช้ยา ตามคำแนะนำของแพทย์ หลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นให้โรคกำเริบ และหมั่นรักษาสุขภาพให้แข็งแรง

ข้อแนะนำ

1. โรคนี้ไม่มีการรักษาจำเพาะที่ทำให้หายขาด ถึงแม้จะเป็นโรคเรื้อรังประจำตัว แต่สามารถปฏิบัติตัวหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น และใช้แชมพูสระผมและยาทาควบคุมอาการได้ ซึ่งช่วยให้อาการทุเลาลงเป็นระยะ ๆ (อาจนานเป็นปี ๆ)

เมื่อเริ่มมีอาการกำเริบขึ้นใหม่ หรือในกรณีที่มีความเครียด หรือสัมผัสสิ่งกระตุ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็สามารถรีบใช้แชมพูรักษารังแคและทายาเพื่อควบคุมไม่ให้อาการเป็นมากหรือลุกลามได้

2. โรคนี้อาจมีลักษณะไม่น่าดู โดยเฉพาะถ้าขึ้นที่บริเวณศีรษะและใบหน้า บางครั้งอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเป็นปมด้อย ความจริงแล้วถึงแม้จะเป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ไม่ใช่โรคร้ายแรง ไม่ใช่โรคติดต่อ (สามารถอยู่ใกล้ชิดกับผู้อื่น โดยไม่ทำให้ผู้อื่นติดเชื้อเป็นโรค) ไม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน และทุเลาได้เมื่อมีการดูแลการรักษาอย่างจริงจัง หากผู้ป่วยมีความเข้าใจธรรมชาติของโรคนี้อย่างแท้จริง ก็จะช่วยให้ทำใจเป็นปกติได้

  3. โรคนี้อาจมีอาการคล้ายโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ รังแค และโซริอาซิส และอาจเป็นอาการแสดงที่พบร่วมกับผู้ป่วยเอดส์ หากให้การรักษาแล้วไม่ดีขึ้น หรือสงสัยว่าเป็นโซริอาซิสหรือโรคเอดส์ก็ควรปรึกษาแพทย์

 

ลงประกาศฟรี โฆษณาฟรี ลงประกาศขายบ้านฟรี ลงประกาศขายบ้าน ขายที่ดิน ขายคอนโด ขายรถ สินค้าอุตสาหกรรม อาหารเสริม เครื่องสำอางค์ แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว โปรโมทสินค้าฟรี เว็บประกาศฟรี ติดอันดับ Google